5 สาเหตุ ทำลายระบบอัดลม ในอุปกรณ์นิวเมติกส์
5 สาเหตุ ทำลายระบบอัดลม ในอุปกรณ์นิวเมติกส์
ในระบบนิวเมติกส์ที่ใช้เครื่องอัดลมจ่ายพลังงาน ลมอัดมักจะมีปัญหาเรื่องความชื้นและ ฝุ่นละอองซึ่งปะปนอยู่ในอากาศ จึงจำเป็นต้องกำจัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ก่อนที่จะนำไปใช้งาน
สิ่งแปลกปลอมที่มีในลมอัดมีผลต่ออุปกรณ์ในระบบนิวเมติกส์ซึ่งจะมีอายุการใช้งานนานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพลมอัดว่ามีคุณภาพเพียงใด โดยส่วนใหญ่สิ่งแปลกปลอมที่ปนมามีดังนี้
1. ความชื้น สาเหตุส่วนใหญ่เนื่องมาจากลมอัดประกอบด้วยไอน้ำจำนวนมาก เพราะเครื่องอัดลมจะอัดลมจากบรรยากาศ ซึ่งมีค่าความชื้นสูง
ค่าความชื้นของอากาศในประเทศไทยโดยทั่วไปมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 60% การแก้ไขในการระบายน้ำที่เกิดจากความชื้น
สามารถทำได้โดยใช้เครื่องระบายความร้อนลมอัดเพื่อดักเอาไว้ก่อน ถ้ายังมีความชื้นปนอยู่ก็อาจจะใช้เครื่องทำอากาศแห้งติดตั้งเข้าไปในระบบอีกทีหนึ่ง
จะทำให้ความชื้นที่เจือปนไปกับลมอัดมีค่าน้อยมาก
2. น้ำมันหล่อลื่น ที่ปนไปกับลมอัด สาเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดเนื่องจากการสึกหรอของแหวนลูกสูบของเครื่องอัดลม ซึ่งจะทำให้ละอองน้ำมันหล่อลื่นเล็ดลอดขึ้นมาผสมกับลมอัดภายในกระบอกสูบได้ สาเหตุดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับเครื่องอัดลมประเภทลูกสูบ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะใช้กรองลมที่มีขนาดละเอียด
มากรองเพื่อแยกน้ำมันออกจากลมอัด
3. สารออกไซด์ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากคาร์บอนและน้ำมันดิบที่มีอยู่ในน้ำมันหล่อลื่น เนื่องจากระบบลูกสูบทำงาน จะอัดอากาศให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น
จึงมีผลทำให้น้ำมันหล่อลื่นเกิดออกไซด์แยกตัวออกมา การแก้ปัญหาดังกล่าวควรเลือกใช้ตัวกรองที่มีความสามารถในการกรองได้ละเอียดถึง 0.3 ไมครอน
มาใช้ในการกรอง และควรเลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นที่มีคุณภาพ และเปลี่ยนตามกำหนดเวลา
4. ฝุ่นละออง สาเหตุที่มีฝุ่นละอองมาได้ด้วยกันหลายทาง แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าที่มาของฝุ่นละอองมีอยู่ 2 แหล่งคือ
ภายในระบบเอง ซึ่งได้แก่ เศษวัสดุ สนิม เศษเกลียวสเก็ดเชื่อมที่เกิดขึ้นในระบบการเดินท่อส่งลม และอีกแหล่งมาจากภายนอกซึ่งจะมีปริมาณมากหรือน้อย
ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมของสถานที่นั้น ๆ แก้ไขได้โดยติดตั้งตัวกรองที่มีคุณภาพสูงเข้าไปในระบบท่อส่งลมหลักที่หนึ่งก่อนที่จะนำลมไปผ่านกรองเข้าเครื่องจักร
และหมั่นทำความสะอาดสม่ำเสมอ
5. ข้อบกพร่องที่เกิดจากการหล่อลื่น ในวาล์วนิวเมติกส์บางรุ่นยังต้องการการหล่อลื่นอยู่ จึงจำเป็นจะต้องมีการผสมน้ำมันหล่อลื่นไปกับลมอัด
ซึ่งน้ำมันหล่อลื่นนี้ควรจะเป็นน้ำมันไฮดรอลิก ไม่ควรให้น้ำมันหล่อลื่นผสมน้อยเกินไปเพราะจะทำให้ชิ้นส่วนที่มีการเสียดสีกันภายในวาล์ว
และซีลต่าง ๆ เกิดการสึกหรอได้ แต่ถ้ามีปริมาณมากเกินไปจะไม่เหมาะสม เพราะทำให้น้ำมันไหลออกมาพร้อมกับลมอัดทางท่อทางระบายทิ้ง
ทำให้เกิดความสกปรกและอุดตันภายในตัวเก็บเสียงได้
การจัดการบำรุงรักษา
อุปกรณ์นิวเมติกส์ทุกชิ้น จะต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะเวลาที่แน่นอนตามระยะเวลาการใช้งานของอุปกรณ์แต่ละชิ้น
ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นได้ภายในระบบ.